เมื่อพูดถึงโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อย่างไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ใครบ้างที่จะไม่กลัว แค่เห็นตัวเลข 85 ล้านคนที่ติดเชื้อในปี 2020 ก็น่าตกใจแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเจ้า COVID-19 นี่ก็ช่างขยันพัฒนาสายพันธุ์ซะเหลือเกิน วันนี้เราจึงต้องมาทบทวนกันหน่อยแล้วว่าเจ้าไวรัสที่ว่า มีเส้นทางการพัฒนาสายพันธุ์อย่างไร แล้วเราควรคิดถึงมันในแง่มุมไหน ก่อนที่จะสายเกินแก้
2 สายพันธุ์จากอู่ฮั่น สู่ 6 สายพันธุ์หลักในวันนี้
ใครๆ ก็รู้ว่า เชื้อไวรัส COVID-19 มีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่ชัดๆ เลยก็คือต้นปี 2020 ซึ่งในตอนนั้นมีเพียง 2 สายพันธุ์หลัก คือสายพันธุ์เอส S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) เท่านั้น
ครั้งแรกที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยนั้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นการแพร่ระบาดจากการเดินทางข้ามประเทศของผู้คน โดยการกระจายเชื้อครั้งสำคัญในประเทศไทยในการระบาดระลอกแรก เกิดจากสนามมวย และแหล่งบันเทิงยามค่ำ ซึ่งพบว่าเป็น COVID-19 สายพันธุ์ S คือมีลักษณะจำเพาะในตำแหน่ง 829 บน Spike โปรตีน (หนามแหลมที่ยื่นออกมา) โดยต่อมาไวรัสสายพันธ์นี้ก็มีการพัฒนาตัวเองให้เป็น Threonine T829 หรือสายพันธุ์ T แต่โชคดีที่ในปัจจุบันทั้งสายพันธ์ S และสายพันธุ์ T ไม่มีในประเทศไทยแล้ว เพราะคนไทยร่วมมือร่วมใจควบคุมการแพร่ระบาดในครั้งนั้นได้สำเร็จ
อีกสายพันธุ์หนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือสายพันธุ์ L ที่แพร่ระบาดหนักในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งไวรัสสายพันธุ์ L นี้ได้มีการพัฒนาแยกเป็นสายพันธุ์ G และ V โดยสายพันธุ์ G มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่ง 614 บน Spike (หนามแหลมที่ยื่นออกมา) โดยลูกหลานของสายพันธุ์ G นั้นถูกแบ่งย่อยออกมาเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ คือ GR (Arginine) และ GH (Histidine) ที่กำลังระบาดหนักอยู่ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย
ไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ G มาจากไหน ประเทศไทยจะรับมือกับการระบาดระลอกใหม่อย่างไร
ข่าวการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี 2020 โดยพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าออกทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และต่อมามีการระบาดครั้งใหญ่ที่แพปลา-ตลาดกุ้งมหาชัย ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งในครั้งนี้พบว่าไม่ใช่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ S แบบการระบาดเมื่อต้นปี 2020 แต่กลับเป็นเชื้อสายพันธุ์ GH ที่แยกย่อยออกมาจากสายพันธุ์ G โดยไวรัสสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิด หรือต้นทางมาจากประเทศอินเดีย ก่อนแพร่ระบาดเข้าไปยังเมืองยะไข่ในประเทศเมียนมา และแพร่มายังประเทศไทยในที่สุด
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในประเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์ G เพราะสายพันธุ์นี้มีการระบาดมากที่สุดในโลก คือเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ COVID-19 สายพันธุ์ G เป็นสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดีในทางเดินหายใจ มีการพบเชื้อที่บริเวณลำคอของผู้ป่วยในปริมาณมากกว่าสายพันธุ์อื่น ทำให้แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วกว่า 10-20 เท่า และจากการตรวจหาเชื้อใน State Quarantine ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ที่พบก็คือเชื้อจากสายพันธุ์ G เช่นกัน แต่ข้อดีของไวรัสสายพันธุ์นี้คือ ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้นจากการพัฒนาสายพันธุ์ ในทางตรงกันข้ามพบว่าความรุนแรงของโรคกลับลดลง และผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่แทบจะไม่มีอาการอะไรเลย
วัคซีนที่ผลิตแล้วจากไวรัสสายพันธุ์เดิมยังใช้ได้อยู่หรือไม่
เนื่องจากระบบภูมิต้านทานของโปรตีนใน Spike หรือหนามแหลมที่ยื่นออกมาซึ่งเป็นส่วนที่กระตุ้นให้เกิดจากสร้างภูมิต้านทานนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแต่อย่างใด ภูมิต้านทานจากวัคซีนที่ผลิตกันอยู่ในปัจจุบันจึงสามารถป้องกัน COVID-19 ได้อยู่ แม้จะมีการพัฒนาสายพันธุ์ ดังนั้นความวิตกกังวลที่ว่าจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในการค้นคว้าและผลิตวัคซีนใหม่ เพราะวัคซีนเดิมที่ค้นคิดได้แล้วไม่สามารถใช้กับ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ได้จึงตกไป
แต่เพราะขณะนี้การผลิตวัคซีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนทั่วโลกได้อย่างทั่วถึง การป้องกันการแพร่ระบาด และการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ใช้แอลกอฮอล์เจลทั้งก่อนและหลังการสัมผัส หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดในระบบอากาศปิด และหมั่นล้างมือบ่อยๆ จึงยังเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ดีที่สุด
เมื่อไรก็ตาม หากเรารู้ตัวว่าตนเป็นผู้มีความเสี่ยงก็ควรกักตัวเองอยู่ในบ้านของตนอย่างน้อย 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของตนเองและส่วนร่วม เพราะเราทุกคนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การระบาดของโรคหมดไป พื่อจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเสียที
บทความจาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โรงพยาบาลพญาไท
โทร. Phyathai Call Center 1772
Comments