top of page

OUR

ARTICLES

พญ.จิดาภา ว่องเจริญวัฒนา, โรงพยาบาลพญาไท

เท้าบิดเข้าใน ภาวะในวัยเด็กที่พ่อแม่ควรเฝ้าจับตา

ในช่วงวัยเด็กนั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่ จึงเป็นช่วงที่อะไรหลายๆ สิ่งอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจของเจ้าตัวน้อยในอนาคตได้ ซึ่ง “เท้าบิดเข้าใน” ถือเป็นหนึ่งในภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กชาย และเด็กหญิง ที่แม้ส่วนใหญ่อาจไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าไม่ดูแลใส่ใจให้ดีก็อาจส่งผลให้บุคลิกภาพของเด็กเสียได้เมื่อเติบโตขึ้น ดังนั้น การทำความเข้าใจกับภาวะเท้าบิดเข้าใน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ลูกเล็กทุกคนควรทำความรู้จักไว้ เพื่อดูแลลูกให้เติบใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด


โรคเท้าบิดเข้าใน

เท้าบิดเข้าในคืออะไร ปัจจัยใดทำให้เกิดกับเด็กๆ?

เท้าบิดเข้าใน เป็นภาวะความผิดปกติของเท้าที่จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของกระดูก 3 จุด ได้แก่ หัวสะโพกบิดไปข้างหน้ามากกว่าปกติ กระดูกหน้าแข้งหมุนเข้าในมากกว่าปกติ และกระดูกเท้าหมุนบิดเข้าในมากกว่าปกติ โดยจะเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุเดียว หรือจะเป็นความผิดปกติของกระดูกทั้ง 3 บริเวณร่วมกันก็ได้ ซึ่งจะวินิจฉัยทราบได้ว่าเกิดจากความผิดปกติของกระดูกส่วนไหน ก็ต้องอาศัยการตรวจร่างกาย ทั้งนี้ มักพบเจอภาวะเท้าบิดเข้าใน ในเด็กช่วงอายุ 2-4 ขวบ ซึ่งจะไม่มีอาการปวดเมื่อยใดๆ ร่วมด้วยเลย เป็นแต่เพียงรูปเท้าบิดเข้าใน ทำให้การเดินแตกต่างไปจากปกติเท่านั้น


รักษาอย่างไร เมื่อพบว่าลูกเท้าบิดเข้าใน?

ในความเป็นจริงแล้ว “เท้าบิดเข้าใน” เป็นโรคที่ไม่อันตราย และสามารถหายขาดเองได้ตามธรรมชาติ ตามวัย เราจึงสามารถค่อยๆ สังเกตอาการ และรักษาไปตามอาการได้ โดยหากพบว่าเมื่อลูกอายุ 7-8 ขวบ แล้วอาการเท้าบิดเข้าในยังไม่กลับมาเป็นปกติ ก็บ่งบอกถึงความผิดปกติที่อาจรุนแรง ซึ่งจะต้องทำการผ่าตัดรักษาเพื่อแก้ไข แต่อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว เด็กที่มีภาวะเท้าบิดเข้าในมักจะไม่ต้องผ่าตัดรักษา เพราะเท้าจะหมุนกลับเข้าที่เอง โดยถึงแม้ว่าจะไม่ได้หมุนกลับมาตรงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ต้องผ่าตัด เพราะไม่ได้ทำความลำบากให้ในการใช้ชีวิต กรณีรายที่ต้องผ่าตัดรักษานั้น จะเป็นภาวะเท้าบิดเข้าในที่รุนแรงจนกระทั่งเดินไม่ได้ เพราะเท้าบิดมาปัดกัน ซึ่งส่วนใหญ่ในรายที่เป็นรุนแรงมักจะพบว่ามีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคสมองพิการ เป็นต้น ทั้งนี้ การผ่าตัดรักษาภาวะเท้าบิดเข้าใน จะเป็นการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูกใหม่ ใส่อุปกรณ์แผ่นเหล็ก ใส่เฝือกเพื่อยึดให้กระดูกติดสนิท โดยหลังจากกระดูกติดสนิทแล้วก็จะกลับมาเดินได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 1-2 เดือน หลังผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย

ถ้าไม่ผ่าตัดแก้ไข จะรักษาเท้าบิดเข้าในได้อย่างไรบ้าง?

แนวทางในการดูแลเยียวยาป้องกันไม่ให้ภาวะเท้าบิดเข้าในรุนแรงมากขึ้น โดยไม่รักษาด้วยการผ่าตัดนั้น สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ หากเป็นกรณีเท้าบิดเข้าในจากกระดูกหัวสะโพกหมุนมากผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงท่านั่ง W หรือท่าผีเสื้อ ระมัดระวังไม่ให้ลูกนั่งแบะขา โดยเปลี่ยนให้มานั่งขัดสมาธิแทน ก็จะช่วยไม่ให้กระดูกหัวสะโพกหมุนบิดมากขึ้น เท้าก็จะไม่บิดเข้าในมากขึ้น หรือถ้าเป็นภาวะเท้าบิดเข้าใน กรณีเกิดจากกระดูกเท้าหมุนเข้าในมากผิดปกติ ก็อาจใส่รองเท้าตัดพิเศษช่วยดัดได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเด็กยังอยู่ในช่วงอายุ 2-7 ปี ก็ยังสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ เนื่องจากลักษณะการเดินจะยังเปลี่ยนแปลงได้อยู่ จนกระทั่ง 8-9 ขวบไปแล้วที่รูปแบบการเดินเข้าที่ หากยังพบว่าเท้ายังบิดเข้าในอยู่มาก ก็ควรไปเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาแนวทางในการรักษาต่อไป


“เท้าบิดเข้าใน” เป็นภาวะที่ไม่อันตราย สังเกตเห็นได้ด้วยตาอย่างชัดเจน ไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ซึ่งกว่า 96 เปอร์เซ็นต์หายเองได้ ถ้าหากไม่ได้มีโรคอื่นร่วมด้วย หรือถ้าหากต้องการรักษาด้วยการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดแล้วก็จะหายขาดไม่กลับมาเป็นอีก ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่พบเห็นภาวะเท้าบิดเข้าใน จึงไม่จำเป็นต้องกังวล หรือตกใจเกินไป แต่ควรหมั่นสังเกตอาการ ว่ามีแนวโน้มจะบิดมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งถ้าสุดท้ายแล้วพบว่ามีแนวโน้มเท้าบิดเข้าในมากขึ้น ก็สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ได้ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และหาแนวทางในการดูแลรักษาที่เหมาะสมถูกต้องที่สุดให้กับเจ้าตัวเล็ก เพื่อให้เขาเติบใหญ่ขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกดี เดินได้ด้วยเท้าที่แข็งแรง และเป็นปกติ


#เด็กเท้าบิด #เท้าบิดเข้าใน #เท้าบิด #โรคในเด็ก #เลี้ยงบุตร #คุณแม่ #ลูกน้อย


บทความจาก


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

แพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อเด็ก

ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ

โรงพยาบาลพญาไท 3

โทร. 02-467-1111 ต่อ 1420

Comments


2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page