top of page

OUR

ARTICLES

โรงพญาบาลพญาไท

คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจรักษามะเร็งตับ ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง

TACE ย่อมาจากคำว่า Trans Arterial Chemo Embolization หมายถึง การรักษามะเร็งตับอีกวิธีหนึ่งในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยการรักษาด้วยวิธีการให้เคมีบำบัดเฉพาะทาง ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งตับโดยตรง แล้วอุดกั้นหลอดเลือดนั้น เพื่อไม่ให้เลือดไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก


คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจมะเร็ง

ขั้นตอนการทำ TACE

การตรวจรักษาต้องทำในห้องเอ็กซเรย์หลอดเลือด โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณขาหนีบ และใส่สายสวนไปในหลอดเลือดแดงที่ตับ โดยแพทย์สามารถมองเห็นสายสวนเคลื่อนไปตามหลอดเลือดได้จากจอรับภาพจากเครื่องเอ็กซเรย์เมื่อสายสวนเคลื่อนไปยังจุดที่ต้องการ จึงทำการฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูพยาธิสภาพและลักษณะของหลอดเลือด จากนั้นจึงให้ยาเคมีบำบัดผสมสารทึบรังสี ฉีดเข้าบริเวณก้อนเนื้องอก และทำการอุดกั้นหลอดเลือดจนกระทั่งไม่มีเลือดไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง


การทำ TACE มีประโยชน์ต่อคนไข้มะเร็งตับอย่างไร

  1. ก้อนมะเร็งถูกทำลายโดยตรงจากยาเคมีบำบัด และจากการขาดเลือดไปเลี้ยง

  2. ปริมาณของยาเคมีบำบัดที่ใช้อยู่ในปริมาณน้อย ทำให้ลดผลข้างเคียงต่อร่างกายส่วนอื่นๆ

แล้วผลข้างเคียง หรือภาวะแทรกซ้อนล่ะ..มีไหม?

ผลค้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ อาจมีห้อเลือดบริเวณที่เจาะเส้นเลือดซึ่งพบในช่วงวันแรกๆ แล้วจะค่อยๆ หายไปได้เอง หรืออาจมีภาวะอุดกั้นหลอดเลือด (Post Embolized Syndrome) คือ อาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ พบได้ประมาณ 40% มักเกิดในช่วง 2-3 วันแรก และหายไปในประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้เช่น ท้องมาน 4-20% ถุงน้ำดีอักเสบ 1-11% หรือฝีในตับ 2-5%


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจรักษา

  1. ผู้ป่วยต้องทำการเจาะเลือดเพื่อดูผลการทำงานของตับ การแข็งตัวของเลือด เกล็ดเลือด ภาวะการทำงานของไต ผลเลือดติดตามเนื้องอก (AFP)

  2. ผู้ป่วยได้รับการตรวจประเมินรอยโรค ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) อัลตร้าซาวด์ หรือเครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และอาจมีการตรวจชิ้นเนื้อมาก่อน

  3. งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ

  4. ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมตัว เพื่อทำความสะอาดโกนขนบริเวณขาหนีบที่จะใส่สายสวน

  5. ผู้ป่วยจะได้รับการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำในวันที่ทำการตรวจ

ขณะทำการตรวจรักษา

  1. ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวัดสัญญาณชีพเป็นระยะๆ ขณะทำการตรวจรักษา และหลังการตรวจรักษา

  2. อาจได้รับยาอื่นๆ ตามแผนการรักษา

  3. ขณะทำการตรวจรักษาอาจมีอาการปวดจุกแน่นท้องได้บ้าง แต่ไม่รุนแรง ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าวสามารถแจ้งแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ภายในห้องตรวจรักษาได้

การดูแลภายหลังการรักษา

  1. ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสัญญาณชีพเป็นระยะหลังการตรวจรักษา จนกว่าอาการจะปกติ

  2. สังเกตบริเวณปลายเท้า ถ้ามีอาการเจ็บ บวม เย็น สีคล้ำ คลำชีพจรไม่ได้ ให้แจ้งแพทย์พยาบาล

  3. ถ้าทำหัตถการผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบจำเป็นต้องนอนราบบนเตียง ห้ามงอขาข้างที่ทำ ห้ามลุกนั่ง ห้ามเดินอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

  4. สังเกตอาการเลือดออกบริเวณแผล ถ้าพบ รีบรายงานแพทย์พยาบาลทันที

  5. ภายหลังการตรวจ 2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ทานอาหารได้

การปฏิบัติตนเมื่อกลับบ้านภายหลังการรักษา

  1. สามารถออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรหักโหม

  2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเป็นอาหารที่ย่อยง่าย

  3. งดรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง งดแอลกอฮอล์

  4. ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียด

  5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

#มะเร็งตับ #โรคตับ #รักษามะเร็งตับ


บทความจาก


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ

โรงพยาบาลพญาไท 2 ชั้น 4 อาคาร A

โทร 02-617-2444 ต่อ 7401, 7406

Comments


2 Soi Rong Muang 5, Rong Muang Rd.

Rong Muang, Pathum Wan Bangkok 10330

Tel: 02 092 9222 Ext. 5107     |     Sales@benix.co.th

bottom of page